สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นสวนพฤกษศาสตร์ระดับสากลแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2536 คลอบคลุมพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ กม.ที่ 12 บนถนนสายแม่ริม-สะเมิง ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวหลักที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ จัดว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจสำหรับเยาวชนและประชาชน รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพืชที่สำคัญของประเทศ โดยมีจุดที่น่าสนใจภายในสวนพฤกษศาสตร์ ดังนี้
1. กลุ่มอาคารเรือนกระจกเฉลิมพระเกียรติ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (Glasshouse Complex) เป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงพรรณไม้ที่มีความโดดเด่น พรรณไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ จากหลากหลายระบบนิเวศ จัดแสดงไว้ในโรงเรือนให้คล้ายคลึงกับลักษณะที่พืชขึ้นอยู่ตามธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปี พร้อมกับชมนาฬิกาดอกไม้เรืองแสงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เมตร มีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับสีสันสดใสตามฤดูกาลภายในหน้าปัดของนาฬิกา จึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจเมื่อเดินทางมาเยือนสถานที่แห่งนี้
2. Rose Garden สวนแห่งรัก สัมผัสกับกลิ่นหอมและเสน่ห์ของกุหลาบกว่า 65 สายพันธุ์ ที่ได้นำมาจัดปลูกไว้บริเวณเหนือขึ้นไปจากกลุ่มอาคารเรือนกระจก เพลิดเพลินกับสีสัน แห่งกุหลาบหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ กุหลาบควีนสิริกิติ์ พรรณไม้เทิดพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ดอกสีเหลืองขนาดใหญ่ เมื่อกลีบต้องแสงอาทิตย์ปลายกลีบจะมีสีส้ม ดอกมีกลิ่นหอม กุหลาบจุฬาลงกรณ์ เป็นดอกกุหลาบไร้หนาม ดอกสีชมพู กลีบซ้อน ดอกมีกลิ่นหอม เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกในบริเวณพระตำหนักดาราภิรมย์ ที่อำเภอแม่ริม กุหลาบมองเชรี กุหลาบอเมริกา กลีบดอกมีสองสี กลีบดอกส่วนโคนสีแดงเข้ม กลีบดอกส่วนปลายสีชมพู มีกลิ่นหอม กุหลาบ Bishop’s Castle กุหลาบอังกฤษ ดอกสีชมพูหวาน กลิ่นหอมคล้ายน้ำหอม กุหลาบจัสท์ โจอี้ ดอกสีส้มอ่อนหรือสีโอรส กลีบดอกซ้อนคล้ายดอกคาร์เนชั่น มีกลิ่นหอม กุหลาบอิมเพเทียน ดอกสีส้มสด สีสันสดใส และกุหลาบรูโกซ่าหรือกุหลาบโบราณ เป็นกุหลาบป่าที่มีผล ผลสุกสีแดงส้ม สามารถนำมาทำแยมได้
3. พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ (Natural Science Museum) เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียนให้ความรู้ทางด้านพืช ธรรมชาติวิทยา ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ภายในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ได้เก็บรวบรวมสะสมวัตถุที่มีค่าและนำมาจัดแสดงให้อยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด เพื่อการศึกษาทางธรรมชาติวิทยาในเรื่องราวที่เกี่ยวกับโลก ธรณีวิทยา สิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะพืชและสิ่งแวดล้อม ให้แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไป ที่จะได้ชมและเรียนรู้ด้วยตนเองในลักษณะของการศึกษานอกห้องเรียน ปัจจุบัน มีการจัดแสดงนิทรรศการ แบ่งออกเป็น ห้องจัดแสดงที่ 1 ประกอบด้วย โซนความหลากหลายทางชีวภาพ แสดงความหมายของความหลากหลายทางชีวภาพจากสายวิวัฒนาการคล้ายการแตกกิ่งก้านของต้นไม้ กำเนิดโลกและหินแร่ พร้อมคำถามมากมายที่หาคำตอบได้ในภายหลัง โซนก้าวแรกของนักพฤกษศาสตร์ในประเทศไทย ชมหุ่นจำลองนักพฤกษศาสตร์พร้อมประวัติการศึกษาทางพฤกษศาสตร์ของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา โซนผจญภัย 10 ป่าไทย ผ่านอุโมงค์ปัจจัยความหลากหลายจนก่อให้เกิดเป็นป่าถึง 10 ประเภท แปลกตากับต้นโกงกางยักษ์จำลอง โซนมหัศจรรย์ผึ้งและดอกไม้ เรื่องราวของผึ้งไทย ผ่านสื่อผสม ชมการ์ตูน “ดนตรีน้ำหวานแห่งชีวิต” ที่จะทำให้เด็กๆ เข้าใจในความสำคัญของผึ้งกับผลผลิตทางการเกษตร ชมห้องจัดแสดงนิทรรศการใหม่ ห้องจัดแสดงที่ 2 เรื่อง “มนุษย์กับพรรณพืช” ที่พร้อมด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ซึ่งได้มีการจัดแบ่งเป็น 7 โซนด้วยกันได้แก่ โซนต้นไม้สร้างชีวิต จุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิต เสมือนอยู่ท่ามกลางป่าธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์และการพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกันระหว่างต้นไม้กับสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์ โซนนวัตกรรมจากพรรณไม้ จากยุคหินสู่ปัจจุบัน ค้นหาได้โดยผ่านงานกราฟิก หุ่นจำลอง และการ์ตูนแอนิเมชั่น เรียงตามช่วงเวลาที่มนุษย์ได้นำพืชเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในภูมิภาค ต่าง ๆ ทั่วโลก โซนเส้นทางแห่งพืชพรรณ การข้ามถิ่นของพืชที่มีผลต่อวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในภูมิภาค ตามหาพืชถิ่นดั้งเดิมของเราและ การข้ามถิ่นของพืชมีผลต่อวิถีชีวิตของคนไทย โซนวันที่โลกไม่มีต้นไม้ รับชมภาพยนตร์บนจอ Panorama ควบคุมด้วยแสงสีเสียงรอบห้อง ได้บรรยากาศกระชากอารมณ์ความรู้สึกในสิ่งที่ได้พบเห็น โซนสู่เส้นทางสีเขียว ตามรอยวิถีชีวิตแบบพอเพียงและงานหัตถกรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในครัวเรือน เพื่อความยั่งยืนของชีวิตและประโยชน์ที่จะกลับมาสู่ตัวเราเอง นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆน้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ก็อาจช่วยต่อเวลาให้กับโลกใบนี้ได้ โซนเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต ร่วมด้วยช่วยกันใช้เงาของเราปลูกเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมืองที่เริ่มสูญหายไปให้กลับคืนมาดังเดิม โซนปลูกต้นไม้ปลูกชีวิต ชมทัศนียภาพโดยรอบของขุนเขาในแต่ละฤดูกาลที่ผันเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปบรรยากาศของในมุม Panoramic View และระบบเสียงผ่าน Sound Dome ตื่นตาตื่นใจกับการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ เรียกได้ว่าคุ้มค่าแก่การเข้าชมเป็นอย่างยิ่ง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นสถานที่ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินเหมือนได้ท่องเที่ยวในโลกแห่งความหลากหลายทางชีวภาพและพืชพรรณ ผ่านกาลเวลาจากยุคอดีตสู่ปัจจุบัน ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่ทันสมัยเหมาะสำหรับทุกคน และนิทรรศการหมุนเวียน จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ระยะเวลาจัดแสดงครั้งละ 5 เดือน โดยนำเสนอเนื้อหาที่ขยายมาจากนิทรรศการถาวร ผลงานของนักวิชาการขององค์การฯ และเรื่องที่น่าสนใจในช่วงเวลานั้นๆ
4. เส้นทางเดินเหนือเรือนยอดไม้ (Canopy Walks) เส้นทางเดินชมธรรมชาติเหนือเรือนยอดไม้ ตั้งอยู่บริเวณริมถนนด้านขวามือ ตรงข้ามกับสวนเฉลิมพระเกียรติ ภายในสวนพฤกษศาสตร์ฯ ถูกออกแบบอย่างลงตัวด้วยโครงสร้างเหล็กกล้า ฉาบด้วยสีเทาอมเขียวกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติโดยรอบ ซึ่งระยะทางบางช่วงยังคงสร้างความตื่นเต้นสำหรับนักท่องเที่ยวที่กลัวความสูง แต่มีราวกั้นกันตก เหนือราวอก ซึ่งเชื่อมั่นได้เลยว่าแข็งแรงมั่นคงและปลอดภัยอย่างแน่นอน ไม่เพียงแต่ความตื่นเต้นสนุกสนาน และความงามของทัศนียภาพที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากเส้นทางนี้ ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ที่เข้าใจง่าย ๆ แต่แฝงด้วยประโยชน์จากป้ายสื่อความหมายที่จัดแสดงไว้ตลอดระยะทางการเดินชม สำหรับประสบการณ์สุดพิเศษที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากเส้นทางเดินชมธรรมชาติเหนือเรือนยอดไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยระยะทางกว่า 500 เมตร และที่ระดับความสูงเหนือพื้นดินกว่า 20 เมตร คือ ทัศนียภาพที่สวยงามของทิวยอดไม้ในแบบพาโนราม่า ที่แต่งแต้มไปด้วย ฉากสุดอลังการของต้นไม้ ภูเขา รวมไปถึงทะเลหมอกจางๆ ที่ลอยละล่องเหนือปลายยอดไม้หากมาเดินชมช่วงปลายฝนต้นหนาว พร้อมกับชมความงามของแสงสุดท้ายของวันด้วยหัวใจที่เต็มอิ่มกับความสุขท่ามกลางปลายทิวสนสามใบเหนือยอดเขาระดับความสูงกว่า 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล
5. เรือนกล้วยไม้ไทย (Thai Orchids) จัดแสดงกล้วยไม้ไทยหายากกว่า 400 ชนิด ได้แก่ กล้วยไม้สกุลหวาย กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี กล้วยไม้สกุลสิงโต กล้วยไม้สกุลเอื้องเทียน กล้วยไม้ดิน พร้อมป้ายสื่อความหมายให้ความรู้เกี่ยวกับกล้วยไม้ กล้วยไม้เด่น อาทิ เอื้องหัวเข็มหมุดหรือเอื้องจิ๋ว ลำต้นขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด ว่านเพชรหึงหรือว่านหางช้าง กล้วยไม้ที่มีลำต้นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ดอกสีเหลืองลายจุดสีน้ำตาล คล้ายลายเสือ สิงโตใบพัดแดง กลีบดอกคล้ายใบพัดกลีบสีขาว-แดง สิงโตนักกล้าม ดอกสีเหลืองจุดประสีน้ำตาล กลีบเลี้ยงด้านล่างม้วนห่อ ลักษณะคล้ายคนกำลังเบ่งกล้าม กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ กล้วยไม้จากดอยสูง ดอกสีน้ำตาลอมแดง กลีบตรงกลางคล้ายรองเท้าของผู้หญิง เอื้องเข็มแสด ดอกออกเป็นช่อ สีส้มสด
6. เส้นทางกระสุนพระอินทร์-พระราม (Pill Millipede Trail) เส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 400 เมตร เพลินชมพรรณไม้และศึกษาระบบนิเวศของป่าที่ผสมผสานระหว่างป่าผลัดใบและไม่ผลัดใบ ตลอดเส้นทางเดินที่ร่มรื่นท่ามกลางต้นไม้น้อยใหญ่ มีธารน้ำเล็กๆ ไหลผ่าน เนื่องจากพื้นที่บางส่วนเป็นร่องตามหุบเขา อากาศจึงเย็นสบายตลอดทั้งปี พรรณไม้เด่นที่พบ อาทิ จำปีหลวง พืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ตะเคียนทอง ไม้อันทรงคุณค่าทางเศรษฐกิจ ต๋าวหรือต้นลูกชิด พืชตระกูลปาล์ม ผลทานได้ นิยมนำมาของหวานที่รู้จักกันดีในนามของลูกชิด เต่าร้าง พืชตระกูลปาล์ม ลำต้นและใบขนาดใหญ่ เป็นพืชท้องถิ่นที่มักพบในป่าทางภาคเหนือ นอกจากนั้นยังกล้วยป่าอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งบริเวณที่มีกล้วยป่ามักจะพบใกล้กับลำห้วย ผลของกล้วยป่ามีขนาดเล็ก จึงไม่นิยมรับประทาน ในช่วงฤดูฝนสามารถพบกับ กิ้งกือกระสุนพระอินทร์-กระสุนพระราม สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลาย ซากพืชและสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศนี้ มีความพิเศษ คือ เมื่อถูกรบกวนจะขดตัวเป็นก้อนกลมคล้ายก้อนกระสุน
7. เส้นทางสวนรุกขชาติ (Arboretum Trail) เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 600 เมตร เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติ ท่ามกลางความร่มรื่น และจุดพักผ่อนท่ามกลางสวนสนธรรมชาติ โดยจุดไฮไลท์ของเส้นทางนี้อยู่ที่แปลงเฟิน ป่าดึกดำบรรพ์มีชีวิต ที่รอให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัส ประกอบด้วยพืชกลุ่มเฟินนานาชนิด เช่น กูดต้น เป็นพืชกลุ่มเฟินที่มีลำต้นสูงกว่า 3 เมตร เฟินกีบแรด เฟินเขากวาง พืชดึกดำบรรพ์ ไม่มีดอกที่หาดูได้ยาก เช่น หญ้าถอดปล้อง หวายทะนอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน นักท่องเที่ยวจะพบกับพรมธรรมชาติ ที่เกิดจากมอสชนิดต่างๆ เจริญเติบโตตลอดเส้นทางแปลงเฟิน
8. เส้นทาง Banana Avenue แปลงรวบรวมพันธุ์กล้วยที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ภายในพื้นที่ 5 ไร่ มีพันธุ์กล้วยหายากหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ กล้วยนวล กล้วยพื้นเมืองหายากของไทย กระจายพันธุ์ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออก กล้วยเสือพราน กล้วยพื้นเมืองของอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบได้ทางภาคใต้ที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส มีใบเป็นลายสวยงามและโดดเด่นสีเขียวปนสีแดงอมม่วง กล้วยเทพรส กล้วยพื้นเมืองของไทย หรือเรียกอีกชื่อว่า กล้วยปลีหาย เนื่องจากไม่มีเกสรเพศผู้ จึงติดผลและส่วนปลาย ไม่มีปลี เห็นแต่หวีลอยอยู่ กล้วยเทพนม กล้วยพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ มีความโดดเด่นที่ หวี 1 หวี จะมีผลกล้วยติดกันหมด ลักษณะคล้ายคนพนมมือไหว้ และผลไม่มีเมล็ด กล้วยงาช้าง กล้วยพื้นเมืองทางภาคใต้ ลำต้นด้านนอกมีสีชมพูแดง ดอกตัวผู้เป็นหมัน เมื่อติดลูกจึงไม่มีปลีติดอยู่ ผลมีลักษณะคล้ายงาช้าง กล้วยรุ่งอรุณ กล้วยขนาดเล็ก ผลสั้นป้อมมีขนละเอียดคล้ายกำมะหยี่ รสเปรี้ยวและมีเมล็ดมาก และกล้วยศรีนรา กล้วยหายากของไทย ที่เติบโตช้ามาก ขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการแบ่งกอเท่านั้น มีช่อดอกสีม่วงอมชมพู พบที่จังหวัดนราธิวาส
9. ศูนย์เกษตรอินทรีย์ ตั้งอยู่ในบริเวณเรือนอนุบาลพรรณไม้ (Nursery) ของสวนพฤกษศาสตร์ฯ เป็นศูนย์เกษตรอินทรีย์ครบวงจร ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปลูกพืชอินทรีย์ การเตรียมดิน การคัดเมล็ดพันธุ์ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งการสาธิตการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ผักพื้นบ้าน ผักปลอดสารพิษ ที่ผลิตจากการใช้เกษตรอินทรีย์หลากหลายชนิด โดยทางศูนย์ฯได้ผลิตปุ๋ยจากมูลไส้เดือน น้ำหมักชีวภาพ และดินพร้อมปลูก จึงเป็นอีกสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ผู้รักธรรมชาติ ใส่ใจดูแลสุขภาพจะสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ได้ทุกวันในราคาที่ย่อมเยา
10. น้ำตกแม่สาน้อย (Mae Sa Noi Waterfalls) เป็นน้ำตกธรรมชาติ ที่ไหลจากลำห้วยแม่สา ผ่านบริเวณด้านหน้าสวนพฤกษศาสตร์ฯ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี นักท่องเที่ยวนิยมใช้เป็นสถานที่นันทนาการพักผ่อนหย่อนใจ เล่นน้ำ และกิจกรรมภายในครอบครัว บรรยากาศรอบๆ ร่มรื่นเย็นสบายด้วยต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนกล้วยไม้ป่าหลายชนิดจะออกดอกสีสันสวยงามและมีกลิ่นหอมให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม
สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 -16.30 น.
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ +66 53841009, +66 5384123
www.qsbg.org หรือ Facebook สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
Following the BGO establishment, the Mae Sa Botanic Garden at Mae Rim, Chiang Mai was transferred from the Royal Forest Department to be under the administration of the BGO. To honor Her Majesty Queen Sirikit of Thailand whose dedication towards biodiversity conservation is internationally recognized, the BGO requested for Her Majesty's name to be the title of the Garden and was granted her royal permission in April 1994. Therefore, the Mae Sa Botanic Garden is known nowadays as Queen Sirikit Botanic Garden or QSBG as its short name.
In addition to the Queen Sirikit Botanic Garden in Mae Rim, Chiang Mai, The BGO, under the The Botanical Garden Organization Ministry of Natural Resources and Environment, oversees 4 other Botanic Gardens throughout Thailand. They are
• Rayong Botanic Garden, Rayong
• Romklao Botanical Garden, Phitsanulok
• Khonkaen Botanic Garden, Khonkaen
• Prameaya Sukhothai Botanic Garden, Sukhothai
100 ม.9 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 50180